'พีระพันธุ์' เปิดงานครบรอบ 20 ปี อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ

173 จำนวนผู้เข้าชม  | 

'พีระพันธุ์' เปิดงานครบรอบ 20 ปี อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ

พีระพันธุ์ ปลื้ม ครบรอบ 20 ปี อาคารอนุรักษ์พลังงาน คลอง 5 สร้างบุคลากรด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกว่า 180,000 คน พร้อมชู พพ. เป็นหน่วยงานต้นแบบด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทน สร้างคนอัจฉริยะ (Smart People) เครื่องจักรอัจฉริยะ (Smart Machine) และระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart System) เพื่อผลักดันให้ไทยได้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในอนาคต

วันที่ 17 พ.ย. 2566) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานใน “งานครบรอบ 20 ปี อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ สู่ปีแห่ง คน เครื่องจักร และระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)” เปิดเผยว่า อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ แห่งนี้นับเป็นความภูมิใจของกระทรวงพลังงานในการเป็นต้นแบบอาคารด้านการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทยแห่งแรก ๆ และเป็นอาคารสำหรับจัดฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์พลังงานให้กับบุคลากรของโรงงานและอาคารควบคุม และนอกข่ายควบคุม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันถือเป็นกลุ่มที่มีการใช้พลังงานสูง รวมถึงส่งเสริมการใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้วยมาตรการด้านกฎหมาย การเงิน มาตรการจูงใจแล้ว ด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการจัดการพลังงานภายในองค์กรมายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาคารแห่งนี้ได้สร้างคุณประโยชน์ทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทนให้คนหลาย ๆ รุ่น รวมทั้งได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและเผยแพร่ความสำเร็จด้านการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนการใช้พลังงานทดแทนผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในภาคอุตสาหกรรม อาคารธุรกิจ และครัวเรือน

“ขอชื่นชมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานทุกท่าน ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเผยแพร่องค์ความรู้ และข้อมูลทางวิชาการ ด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทน ภายใต้แนวคิด คนอัจฉริยะ (Smart People) เครื่องจักรอัจฉริยะ (Smart Machine) และระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart System) ซึ่งเป็นฟันเฟืองที่สำคัญ ในการผลักดันให้ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืน ทางด้านพลังงาน เพราะผมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงานให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ที่นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ด้าน นายโสภณ มณีโชติ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติได้ถูกออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามแนวคิดการผสมผสานการใช้เทคโนโลยีร่วมกับใช้หลักการธรรมชาติ แบบ Passive design คือ การออกแบบที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้วิธีการออกแบบที่ประหยัดพลังงาน และใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม เช่น การใช้แสงธรรมชาติ การใช้พื้นที่ให้เหมาะสม การใช้วัสดุที่เหมาะสม และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยมลพิษกลับสู่สิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องกลไฟฟ้าเพิ่มเติม การออกแบบ passive design จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานและเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งภายในอาคารใช้เป็นศูนย์แสดงเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงานของภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคบ้านอยู่อาศัย รวมถึงการแสดงเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน เช่น solar Rooftop เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ รวมแล้วมากกว่า 180,000 คน และมีผู้เข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีพลังงานภายในศูนย์แสดงในภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคบ้านอยู่อาศัย มากกว่า 124,000 คน


นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาคารแห่งนี้ได้ผ่านมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล เป็นแบบอย่างให้แก่โรงงานและอาคารควบคุมในการจัดการพลังงาน และนับเป็นอาคารภาครัฐกลุ่มแรกที่จะได้รับรองมาตรฐานนี้ โดยตลอดเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา พพ. ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความสามารถในการพัฒนาพลังงานของประเทศได้เป็นอย่างดี พพ. จึงได้มอบรางวัลให้กับสถานประกอบการที่มีผลการประหยัดพลังงานดีเด่น และได้ดำเนินการจัดส่งรายงานการจัดการพลังงานครบถ้วนตามกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 20 รางวัล โดยแบ่งเป็น สถานประกอบการประเภทโรงงาน จำนวน 13 รางวัล ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 18 โรงฟีนอล , บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด , บริษัท เมโทร ปาร์ติเกิล จำกัด , บริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด , บรัษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าวังน้อย , บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด โรงสูบน้ำบ้านค่าย (กิจการประปาระยอง)" , บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท โทเร เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โรงงานที่ 1 , บริษัท เคมีแมน จำกัด , บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด โรงงานเขาวง , บริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) และสถานประกอบการประเภทอาคาร จำนวน 7 รางวัล ได้แก่ บริษัท พีแอนด์บีรัชดาโฮเต็ล จำกัด โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ , บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลกรุงเทพ , การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่คลองเตย , บริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด (กิจการโรงฟัก) , บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด เทอร์มินอล 21 พัทยา , มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา , กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ และควอลิตี้เฮ้าส์ คิวเฮ้าส์ลุมพินี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้