มินิซีรีส์ 'จุดไฟในพายุ'
เส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม
ของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

  รากฐานแห่งครอบครัว  

 

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เกิดในครอบครัวทหารและนักกฎหมาย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2502

เชื้อสายด้านคุณพ่อ พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค  เป็นอดีตเจ้ากรมการพลังงานทหาร  เป็นผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง  เป็นปลัดกระทรวงเศรษฐการ (หรือกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน) และเป็นผู้ริเริ่มการขุดน้ำมันและธุรกิจน้ำมันของคนไทยเป็นครั้งแรก ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ในนามของกรมการพลังงานทหารและองค์การเชื้อเพลิงเพื่อเป็นแหล่งพลังงานของกองทัพ และก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหารเพื่อขายน้ำมันในราคาถูกให้ประชาชน โดยต่อมา องค์การเชื้อเพลิงและปั๊มน้ำมันสามทหารก็ได้แปรสภาพมาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน


คุณปู่เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณในกระทรวงเกษตราธิการ (หรือกระทรวงเกษตรในปัจจุบัน) จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสาลีรัฐวิภาค”

ทั้งคุณปู่และคุณพ่อเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา

ด้านคุณแม่ โสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (สกุลเดิม สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้วงดนตรีสุนทราภรณ์แต่งเพลง 'ดาวจุฬาฯ' และ 'ขวัญใจจุฬาฯ' เป็นบุตรีของพระมนูเวทย์วิมลนาท อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักร และประธานศาลฎีกา 

“พีระพันธุ์” จึงเติบโตภายใต้บรรยากาศแวดล้อมที่ผสมผสานกันระหว่างความเป็นทหาร นักกฎหมาย และนักการเมือง ของสมาชิกภายในครอบครัวและบรรพบุรุษที่ปลูกฝังให้มุ่งทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างสูงสุด

พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตเจ้ากรมการพลังงานทหารและผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง เป็นผู้ริเริ่มการขุดน้ำมันและธุรกิจน้ำมันของคนไทยเป็นครั้งแรกที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานของกองทัพ และก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหารเพื่อขายน้ำมันในราคาถูกให้ประชาชน

ปั๊มน้ำมันสามทหาร ปั๊มน้ำมันแห่งแรกของคนไทยเพื่อคนไทย ดำเนินการโดยองค์การเชื้อเพลิงซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2503 ก่อนที่จะแปรสภาพมาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน

  เติบโตและเรียนรู้  


 

12 ปี ภายในรั้ว “น้ำเงินขาว” ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล มีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างความรู้พื้นฐานด้านการศึกษาให้แก่ “พีระพันธุ์” ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

แม้จะมีความฝันอยากเป็นทหารและนักบินขับไล่ในวัยเด็ก  แต่เมื่อไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกให้เข้าศึกษาด้านการทหารเพราะมีปัญหาสายตาสั้นในขณะนั้น  “พีระพันธุ์” จึงตัดสินใจเดินตามรอย “คุณตา” ด้วยการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตร์บัณฑิตเมื่อปี พ.ศ.2524  และสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตไทยในปีถัดมา

จากนั้น “พีระพันธุ์” ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทถึง 2 ด้าน คือ กฎหมายอเมริกันทั่วไป (LL.M.) และกฎหมายเปรียบเทียบ (M.C.L.)  ที่สอนให้รู้จักหลักการและความสำคัญของการใช้กฎหมายซึ่งไม่เพียงจะเป็นหลักประกันในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม แต่ยังเป็นหลักประกันที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมและเปลี่ยนแปลงโลกได้

  หลักการที่แน่วแน่  


"พีระพันธุ์" เริ่มต้นทำงานในสายตุลาการ  โดยผ่านการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ. 2529 จากนั้นได้ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดตาก  ผู้พิพากษาศาลจังหวัดธัญญบุรี  ผู้พิพากษาประจำกระทรวง (ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการ สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม) และผู้พิพากษาประจำกระทรวง (ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่ง) ตามลำดับ

ตลอดเวลานับแต่รับราชการเป็นผู้พิพากษาจนถึงปัจจุบัน “พีระพันธุ์” ได้ยึดหลักการทำงานตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานให้ไว้เมื่อครั้งที่เขาได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้พิพากษา นั่นคือ ให้ทำหน้าที่โดยยึดหลักความถูกต้องและความยุติธรรมที่แท้จริงบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต เพราะความยุติธรรมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริงจะทำให้สังคมอยู่ได้ และประเทศก็จะอยู่ได้

พระบรมราโชวาทในครั้งนั้นได้กลั่นมาเป็นหลักคิดในการทำงานทุก ๆ ด้านของ “พีระพันธุ์” นั่นคือ

“ยุติธรรมค้ำจุนชาติ”


นอกจากการทำหน้าที่ผู้พิพากษาแล้ว “พีระพันธุ์”ยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นกรรมาธิการในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลายฉบับในสภาผู้แทนราษฎร และร่วมทำหน้าที่เสนอความเห็นประกอบการประชุมคณะรัฐมนตรีให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาแล้วหลายท่านด้วย

จากประสบการณ์ในฐานะผู้พิพากษา  “พีระพันธุ์” ได้พบเห็นความทุกข์และความเดือดร้อนของประชาชนอันเกิดจากความไม่รู้กฎหมาย การขาดที่พึ่ง และระบบกฎหมายที่ขาดความยืดหยุ่น

นอกจากนี้ การทำหน้าที่ผู้พิพากษาในบริบทของประเทศไทย คือ การให้ความยุติธรรมภายใต้กฎหมายที่ออกจากรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้อยู่ที่ดุลพินิจของผู้พิพากษาโดยตรง  ทำให้มีกฎหมายหลายฉบับที่ยังไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้อย่างที่ควรจะเป็น หรือไม่ทันยุคสมัยที่สังคมและเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เหล่านี้คือแรงผลักดันที่ทำให้ “พีระพันธุ์” ตัดสินใจก้าวสู่เวทีการเมือง เพื่อจะได้ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อร่างและผลักดันกฎหมายให้ศาลสามารถใช้เพื่ออำนวยความยุติธรรมและความเป็นธรรมให้กับประชาชนตามความตั้งใจของเขาได้






  เส้นทางการเมือง  

“พีระพันธุ์” ลงสมัครชิงเก้าอี้ ส.ส.ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์  และถึงแม้จะไม่ได้รับเลือกตั้งในครั้งนั้น  แต่เขาก็ไม่ได้ละทิ้งความตั้งใจและยังคงเดินหน้าทำงานการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2535-2536) ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (พ.ศ. 2536-2537) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พ.ศ. 2537-2538) และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2538-2539)

“พีระพันธุ์” ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในปี พ.ศ. 2539 และได้เป็น ส.ส. สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นชื่อของ “พีระพันธุ์” ก็ปรากฎอยู่ในทำเนียบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกสมัย ทำให้เขามีโอกาสได้ทำงาน “ออกกฎหมาย” ตามที่ตั้งใจไว้ และเป็นมือกฎหมายผู้มีบทบาทสำคัญในการเสนอและผลักดันกฎหมายสำคัญ ๆ หลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญา ที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540  พ.ร.บ.ฮั้วประมูลว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542  รวมถึงการเสนอร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน “พีระพันธุ์” ก็ทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการและเลขานุการคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน  และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ควบคู่กันไปด้วย

“พีระพันธุ์” ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 2 ในปี พ.ศ. 2544  และได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบคนแรกของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติจากการทุจริตต่างๆ คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการสอบทุจริตการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ปลอมซึ่งศาลพิพากษาจำคุกผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด หรือการสอบทุจริตการจัดซื้ออาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) ที่ช่วยรัฐไม่ต้องสูญเสียเงิน 400 ล้านบาท รวมไปถึงคดี “ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้าน” ซึ่ง“พีระพันธุ์” ได้ทำการสอบสวนอย่างยาวนานกว่าหนึ่งปี แต่ก็คุ้มค่าเพราะอัยการสามารถนำผลการสอบสวนไปเป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดีในศาลจนชนะคดีในที่สุด

ในปี พ.ศ. 2548 “พีระพันธุ์” ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 3 ในระบบบัญชีรายชื่อ  และหลังการยุบสภาฯ ในปี พ.ศ.2549 เขาได้นำทีมบุกสำนักงาน กกต. เปิดโปงหลักฐานการแก้ไขทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองย้อนหลัง เพื่อช่วยเหลือบางพรรคการเมืองให้มีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้  นำไปสู่การยกเลิกการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 และเป็นผลให้กรรมการ กกต.หลายคนต้องถูกพิพากษาจำคุก

แม้จะไม่มีสภาฯ ในระหว่างปี พ.ศ. 2549-2550 “พีระพันธุ์” ก็ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์ เขาได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายช่วยเหลือ พลเอกปฐมพงศ์ เกษรศุกร์ อดีตที่ปรึกษากองทัพไทย ยกร่างกฎหมายระเบียบข้าราชการทหารฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพสังคมปัจจุบัน โดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ พ.ศ. 2550 และมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2550 “พีระพันธุ์” ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 4 โดยได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ของเขตเลือกตั้งที่ 3  (ห้วยขวาง ดินแดง พญาไท) และได้ทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการหลายชุด อาทิ รองประธานคณะกรรมาธิการการทหารคนที่หนึ่ง, ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณานโยบาย งบประมาณ และประสิทธิภาพกองทัพ, ประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์, รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาคุณสมบัติผู้สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, และรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2552 เป็นต้น



ด้วยความสนใจในกิจการด้านความมั่นคงและการทหาร “พีระพันธุ์” ได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร มาหลายสมัยและหลายตำแหน่งหน้าที่ อาทิ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหาร (พ.ศ. 2540-2543), ประธานคณะอนุกรรมาธิการการทหารพิจารณาศึกษาสมรรถนะกองทัพในการป้องกันประเทศ (พ.ศ. 2541-2543), รองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2548-2549), ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณและขีดความสามารถของกองทัพ (พ.ศ. 2548-2549), รองประธานคณะกรรมาธิการการทหารคนที่หนึ่ง (พ.ศ.2550-2551) , ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณานโยบาย งบประมาณ และประสิทธิภาพกองทัพ (พ.ศ. 2550-2551)

“พีระพันธุ์” ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทหารพรานที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ และตรวจแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตลอดเขตแดนไปจนถึงเส้นแนวเขตแดนในทะเล  อีกทั้งไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจทหารทุกเหล่าทัพในการปฏิบัติหน้าที่และแก้ไขปัญหาด้านขวัญกำลังใจของทหารหลักและทหารพรานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับบทบาทด้านการตรวจสอบ “พีระพันธุ์” ได้ทำหน้าที่อภิปรายในสภาฯ อย่างเข้มแข็งทุกสมัย อาทิ  การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อปี พ.ศ. 2545 ในกรณีการซ่อมเฮลิคอปเตอร์  ฮ.6 จนส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ  การอภิปรายกรณีจ้างสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง OPV เมื่อปี พ.ศ. 2547 การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีต่างประเทศกรณีปราสาทพระวิหาร และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2551 เป็นต้น

ส่วนบทบาทในฐานะผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครนั้น “พีระพันธุ์” ดูแลเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ ประสานงานและสร้างเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาเดือดร้อนให้กับประชาชนและครอบครัว ตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างใกล้ชิด และเป็นที่ประจักษ์ของประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด

นอกจากนี้ “พีระพันธุ์” ยังทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นผู้ยกร่างนโยบายด้านการทหารและการป้องกันประเทศ นโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ นโยบาย “คดีทุจริตไม่มีอายุความ” เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เด็ดขาด  นโยบายที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่ประชาชนในอนาคต และนโยบาย “กรุงเทพมหานคร” อีกทั้งยังเป็นเจ้าของความคิด “ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศและการดูแลสังคม”

ด้วยบทบาทและความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอันโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ “พีระพันธุ์” จึงได้รับการมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเงา” เมื่อต้นปี พ.ศ.2551 ก่อนที่จะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” ในรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551

  ยุติธรรมเพื่อประชาชน  

ที่ผ่านมา “พีระพันธุ์” ได้พบเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่รู้กฎหมาย จนทำให้ตกเป็นเหยื่อของคนที่รู้มากกว่า  บ้างก็ถูกเอารัดเอาเปรียบจนกระทั่งหมดตัว บ้านแตกสาแหรกขาด บางคนถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจจนเกินขอบเขตทำให้ต้องเดือดร้อนและไม่มีทางสู้ คนจำนวนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐเล่นงาน หรือหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม ชาวบ้านจำนวนมากต้องเสียใจเพราะลูกหลานติดยาเสพติด จนทำให้หมดอนาคตและต้องกลายเป็นเครือข่ายค้ายา หรือบางครั้งถูกปราบปรามจนเสียชีวิต หรือบางคนไม่ได้ตั้งใจทำความผิดคิดชั่ว แต่พลาดพลั้งทำให้ต้องติดคุกติดตะราง

เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เขาจึงมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป หรือให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมกับวางระบบป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต ด้วยความหวังที่จะให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมถ้วนหน้า และสังคมเกิดความสงบสุข

นั่นคือ “ความฝันอันสูงสุด” ของเขา

“พีระพันธุ์” ได้ริเริ่มโครงการหลากหลายที่ช่วยอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนอย่างเสมอภาคภายใต้กรอบแนวคิด ‘ยุติธรรมเพื่อประชาชน’  โดยเฉพาะการหยิบยก ‘กองทุนยุติธรรม’ ขึ้นมาปรับนโยบายและหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย ช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดีหรือการบังคับคดี อีกทั้งยังให้ความ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม จนสามารถช่วยเหลือประชาชน ผู้เดือดร้อนได้เกือบ 900 ครัวเรือน ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง

นอกจากนี้ “พีระพันธุ์” ยังได้ริเริ่มอีกหลายโครงการเพื่อสร้างโอกาสและความเป็นธรรม เช่น โครงการคืนคนดีสู่สังคม   โครงการยุติธรรมเคลื่อนที่   โครงการอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม   โครงการจัดตั้ง สน.ยุติธรรม   โครงการจัดตั้งเครือข่ายยุติธรรมชุมชน  การบูรณาการหน่วยงานต่อต้านยาเสพติด   การอำนวยความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนใต้  การจัดตั้งสำนักบังคับคดีอาญาและบังคับใช้กฎหมาย  รวมทั้ง การคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดในหลายกรณีที่มีการ “จับแพะ”

ในยุคสมัยของ “พีระพันธุ์” ยังนับเป็นครั้งแรกของกระทรวงยุติธรรมและของประเทศไทย ที่มีการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อนำเงินที่ได้มาไปใช้คืนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.2477 มาตรา 5 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกกฎกระทรวงดังกล่าว  และเป็น “พีระพันธุ์” ที่ดำเนินการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ด้วยตนเอง เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดอย่างแท้จริง

“พีระพันธุ์” ยังเป็นผู้เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญายกเลิกอายุความคดีทุจริต ซึ่งส่งผลให้คดีทุจริตไม่มีอายุความอีกต่อไป ทั้งนี้เพื่ออุดช่องว่างไม่ให้ผู้กระทำผิดหลีกเลี่ยงการรับโทษ และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังสร้าง “มิติใหม่” ในการจัดซื้อของกรมราชทัณฑ์ โดยให้ดำเนินการซื้อตรงจากหน่วยงานของรัฐในราคาพิเศษ ซึ่งสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการหุงหาอาหารให้แก่นักโทษ ผู้ต้องขัง รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งยังเป็นการตัดช่องทางสำหรับการรั่วไหลหรือการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อีกทางหนึ่งด้วย

ด้วยความชื่นชอบและมีพรสวรรค์ด้านการออกแบบ “พีระพันธุ์” ยังเป็นผู้ร่างแบบอาคารกระทรวงยุติธรรมแห่งใหม่ด้วยตนเอง ก่อนให้กองออกแบบรับไปดำเนินการออกแบบก่อสร้าง และอาคารสำนักงานกระทรวงยุติธรรมแห่งใหม่นี้ ยังมีข้อความจารึกที่เขาฝากไว้เป็นคติเตือนใจว่า “ยุติธรรมค้ำจุนชาติ”

นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ออกแบบเข็มเครื่องหมาย “ยุติธรรมธำรง” เพื่อแสดงวิทยฐานะและเชิดชูเกียรติแก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรผู้บริหารงานยุติธรรมระดับสูง (บธส.) ของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นอีกนโยบายของ “พีระพันธุ์” ในการเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรในสังกัดกระทรวงยุติธรรม

  >> ผลงานในตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม  

“พีระพันธุ์” ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาจนถึงวาระของการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2554   และเขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 5 ในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเปลี่ยนจากการเป็นแกนนำรัฐบาลมาเป็นฝ่ายค้านหลักในขณะนั้น

วิกฤตการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2556-2557  นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ และกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งก็ล่วงเข้าสู่ปี พ.ศ. 2562

 


  บนความเปลี่ยนแปลง  

 

ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ได้เปิดทางให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่  “พีระพันธุ์” ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 6 ในขณะนั้น จึงประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วยเจตนามุ่งมั่นที่จะกอบกู้พรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นสถาบันการเมืองอย่างแท้จริง แต่ด้วยโชคที่ไม่เข้าข้าง เขาจึงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างที่ตั้งใจ และได้ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562

หลังลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ‘พีระพันธุ์’ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ในตำแหน่ง
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562  และทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ด้วย

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19  “พีระพันธุ์” ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)  อีกทั้งยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และเป็นคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย เพื่อบริหารแผนฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งชาติให้เป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564  “พีระพันธุ์” ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในวันถัดมา  ไม่นานจากนั้น เขาได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่  4 เมษายน พ.ศ. 2565 เนื่องจากจัดทำโครงสร้างพรรคให้เข้มแข็งเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในระหว่างนี้ ‘พีระพันธุ์’ ยังสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงที่ช่วยปกป้องเงินภาษีประชาชนกว่า 25,000 ล้านบาท จากการรื้อฟื้นคดีมหากาพย์ ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ ที่คาราคาซังมากว่า 30 ปี ด้วยการสืบค้นหลักฐานและข้อพิรุธต่างๆ เพื่อต่อสู้คดีนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562  ทั้งในชั้นสภาผู้แทนราษฎร  ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ศาลรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงศาลปกครองสูงสุด จนกระทั่ง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565 ให้พิจารณาคดีนี้ใหม่ และต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565 ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่เคยให้ภาครัฐต้องจ่ายเงินชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัทโฮปเวลล์ฯ รวมกว่า 25,711 ล้านบาท จนกว่าการพิจารณาคดีใหม่จะได้ข้อยุติ  ต่อมา ศาลปกครองกลางได้ดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ และมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ฯ  เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย  (อ่านรายละเอียดการรื้อฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์)

การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของ “พีระพันธุ์” ยังคงดำเนินต่อไป โดยเขาได้รับแต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ (ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565)   เพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนผู้ร้องเรียนและผู้ร้องทุกข์ และการอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนโดยเร็ว

  ‘รวมไทยสร้างชาติ’  

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเมืองไทย “พีระพันธุ์” ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จากการลงมติในที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรครวมไทยสร้างชาติเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565  ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างพรรคการเมืองของประชาชนและเป็นสถาบันการเมืองที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

“พีระพันธุ์”เข้ามาปรับโครงสร้างและภาพลักษณ์ของพรรครวมไทยสร้างชาติเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ด้วยการคัดสรรผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันมาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ภายใต้สโลแกน “สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง สร้างสังคมเท่าเทียม” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย  เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสดำรงชีวิตในทุกมิติอย่างเท่าเทียมกัน

แม้แต่โลโก้ของพรรค “พีระพันธุ์” ก็ยังเป็นผู้ออกแบบด้วยตนเอง โดยใช้สัญลักษณ์แถบสีธงชาติไทยแผ่เป็นฐานจากทั้งสองด้านแล้วพุ่งขึ้นบรรจบกันเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมปลายแหลม เพื่อให้สื่อความหมายถึง การหลอมรวมใจของชาวไทยทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกภูมิภาคที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว และถ่ายทอดจุดยืนของพรรคในการร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่นสมัครสมานที่จะพาปวงชนชาวไทยให้ก้าวข้ามอุปสรรคความขัดแย้ง พร้อมนำประเทศชาติมุ่งสู่อนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ขณะเดียวกันนั้น “พีระพันธุ์” ก็มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากขึ้น โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 324/2565 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2565 และเข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค  รวมทั้งตำแหน่งแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ  “พีระพันธุ์” ในฐานะหัวหน้าพรรคและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 2  ก็นำผู้สมัครของพรรครวมไทยสร้างชาติลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ หรือ “ลุงตู่” ของคนไทย ภายใต้แคมเปญ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” เพื่อสานต่อสิ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางรากฐานไว้ รวมทั้งการนำเสนอนโยบายใหม่ ๆ ภายใต้ความคิดริเริ่มของเขา (อาทิ “กองทุนประชาชน” “บัตรสวัสดิการพลัส” “แก้กฎหมายให้ที่ทำกิน” "น้ำมันเสรี"  และ “ปลดหนี้ด้วยงาน” เป็นต้น) เพื่อสร้างโอกาสและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน เพื่อความมั่นคงสงบสุขของประเทศ และที่สำคัญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็น 3 เสาหลักของบ้านเมือง

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566  “พีระพันธุ์” ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 7 แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เขาได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อความสะดวกในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย  และยืนยันที่จะอยู่เคียงข้าง “ลุงตู่” จนวินาทีสุดท้ายของการทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เมื่อการเมืองเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลอีกครั้ง 'พีระพันธุ์' ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในยุครัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นอีกจังหวะของการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติตามปณิธานและความเชื่อมั่นของเขาที่ว่า  "ยุติธรรมค้ำจุนชาติ"  และเขายังไม่หยุดที่จะต่อสู้...เพื่อความเป็นธรรมของประชาชน...เพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ...และเพื่อประโยชน์สูงสุดของบ้านเมือง  

  ลำดับเหตุการณ์สำคัญ  

พ.ศ. 2502

เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เจ้ากรมการพลังงานทหาร และผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง และ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯคนแรก

พ.ศ. 2508-2519

ศึกษาในระดับประถมและมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล  

 

พ.ศ. 2520-2524

ศึกษาในระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

พ.ศ. 2524-2525

ศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิต   (เนติบัณฑิตไทย รุ่นที่ 34) สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

 

พ.ศ. 2526-2528

ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านกฏหมายเปรียบเทียบ และกฏหมายอเมริกันทั่วไป ที่ Tulane University, New Orleans, Louisiana, USA

 

พ.ศ. 2529-2535

เข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ก่อนย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดตาก ผู้พิพากษาศาลจังหวัดธัญญบุรี ผู้พิพากษาประจำกระทรวง (ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการ สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม) และผู้พิพากษาประจำกระทรวง (ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่ง) ตามลำดับ

 

พ.ศ. 2535

เข้าสู่เวทีการเมือง โดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 3 (พญาไท จตุจักร ทุ่งสองห้อง) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์  และได้คะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 4 จากจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตทั้งหมด 3 ที่นั่ง

 

พ.ศ. 2535 – 2536 

เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

พ.ศ. 2536 – 2537

เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

พ.ศ.  2537 – 2538 

เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

 

พ.ศ.  2538 – 2539 

เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

 

พ.ศ. 2539-2544


ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 5 ห้วยขวาง ดินแดง คลองเตย (แขวงคลองเตยเหนือ)  และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2539


เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (รัฐบาลนายชวน หลีกภัย)


มีบทบาทสำคัญในการยกร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540  พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ( ‘พ.ร.บ.ฮั้วประมูล’ ) และการเสนอร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต 


ทำหน้าที่กรรมาธิการ และเลขานุการคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร


เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2540-2543)


เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการการทหารพิจารณาศึกษาสมรรถนะกองทัพในการป้องกันประเทศ (พ.ศ. 2541-2543)

 

พ.ศ. 2544 – 2548 


ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 2 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์  ในปี 2544


เป็นประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร


สร้างผลงานมากมายจนได้ฉายา “มือปราบทุจริต” อาทิ  การสอบสวนคดีจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ปลอม การสอบสวนกรณีการจัดซื้ออาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการสอบสวนการทุจริตคดี "ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท"  ซึ่งสามารถช่วยปกป้องผลประโยชน์ของชาตินับหมื่นล้านบาท


เป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อ พ.ศ. 2545 กรณีการซ่อมเฮลิคอปเตอร์  ฮ.6  และกรณีจ้างสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง OPV เมื่อ พ.ศ. 2547

 

พ.ศ. 2548-2549


ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์  และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 3 ในปี พ.ศ. 2548


เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร


เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณและขีดความสามารถของกองทัพ

 

พ.ศ. 2549-2550


นำทีมบุกสำนักงาน กกต. เปิดโปงหลักฐานการแก้ไขทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองย้อนหลังเพื่อช่วยเหลือให้มีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้  นำไปสู่การยกเลิกการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 และเป็นผลให้กรรมการ กกต.หลายคนต้องติดคุก


ช่วยเหลือ พลเอกปฐมพงศ์ เกษรศุกร์ อดีตที่ปรึกษากองทัพไทย ยกร่างกฎหมายระเบียบข้าราชการทหารฉบับใหม่ ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน


ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์

 

พ.ศ. 2550 – 2551 


ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 4  ในปี พ.ศ. 2550 โดยได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ของเขต 3  (ห้วยขวาง ดินแดง เขตพญาไท)


ทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร คนที่หนึ่ง


ทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณานโยบาย งบประมาณ และประสิทธิภาพกองทัพ


ทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


ทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์


ทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาคุณสมบัติผู้สมควรดำรงตำแหน่งกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน


ทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552


เป็นหนึ่งในผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีต่างประเทศกรณีปราสาทพระวิหาร และอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2551


ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทหารพรานที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ และตรวจแนวชายแดนไทย-กัมพูชาตลอดแนวจนถึงเส้นแนวเขตแดนในทะเล


ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจทหารทุกเหล่าทัพในการปฏิบัติหน้าที่และแก้ไขปัญหาด้านขวัญกำลังใจของทหารหลักและทหารพรานอย่างต่อเนื่อง


เป็นผู้ยกร่างนโยบายด้านการทหารและการป้องกันประเทศ นโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ


เป็นผู้ร่างนโยบาย “คดีทุจริตไม่มีอายุความ” เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เด็ดขาด

เป็นผู้ร่างนโยบายที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่ประชาชนในอนาคต และนโยบาย “กรุงเทพมหานคร”


เป็นเจ้าของความคิด “ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศและการดูแลสังคม”

ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเงา เมื่อต้นปี พ.ศ. 2551

 

พ.ศ. 2551 – 2554 


ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551

 

เป็นผู้ริเริ่มหลากหลายโครงการที่ช่วยอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนอย่างเสมอภาคภายใต้กรอบแนวคิด ‘ยุติธรรมเพื่อประชาชน’ 

 

พ.ศ. 2554 – 2556 


ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 5 ในปี พ.ศ. 2554

 

พ.ศ.  2562

ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 6 ในปี 2562

ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562

ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562

เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน  สภาผู้แทนราษฎร

เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร

 

พ.ศ.  2563


เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)  


ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)

เป็นคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)  (พฤษภาคม 2563 – มิถุนายน 2564)

 

พ.ศ. 2564 – 2565


สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564  และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในวันถัดมา

ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่  4 เมษายน 2565 เนื่องจากจัดทำโครงสร้างพรรคให้เข้มแข็งเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

พ.ศ. 2565

สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงที่ช่วยปกป้องเงินภาษีประชาชนกว่า 25,000 ล้านบาท จากการรื้อฟื้นคดีมหากาพย์ ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ ที่คาราคาซังมากว่า 30 ปี ด้วยการสืบค้นหลักฐานและข้อพิรุธต่างๆ เพื่อต่อสู้คดีนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 จนกระทั่ง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ให้พิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ และต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่เคยให้ภาครัฐต้องจ่ายเงินชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัทโฮปเวลล์ฯ รวมกว่า 25,711 ล้านบาท

ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 เพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนผู้ร้องเรียนและผู้ร้องทุกข์ และการอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนโดยเร็ว

ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565

ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565

 

พ.ศ. 2566

ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อความสะดวกในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566

ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้