19 จำนวนผู้เข้าชม |
“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน แสดงวิสัยทัศน์เดินหน้าสู่พลังงานสะอาดภายใต้แนวทาง “รื้อ ลด ปลด สร้าง” สร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ประชุมคาดความต้องการใช้พลังงานอาเซียนพุ่งขึ้นกว่าสามเท่า
.
วันที่ 26 กันยายน 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
.
ในการนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมทั้งหมด 3 ฉบับซึ่งระบุผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของอาเซียน ได้แก่ ถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42, ถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านพลังงาน (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 21 และถ้อยแถลงร่วมสำหรับโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉบับที่ 5
.
ในโอกาสนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์เพื่อแสดงถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานของไทยซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานในอาเซียน โดยนายพีระพันธุ์ได้เน้นย้ำแนวทาง รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อปฏิรูประบบพลังงาน การผลักดันการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ควบคู่กับการลดการใช้ถ่านหิน รวมทั้งกล่าวสนับสนุนให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนในภูมิภาค
.
ที่ประชุมได้รายงานถึงทิศทางอนาคตพลังงานของอาเซียน ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นประมาณสามเท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565 โดยภาคอุตสาหกรรมและคมนาคมมีแนวโน้มใช้พลังงานมากที่สุด ในขณะที่ ภาคครัวเรือนจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานแบบดั้งเดิม สู่การใช้ LPG และไฟฟ้าในการประกอบอาหารมากขึ้นในปี ค.ศ. 2050 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงความก้าวหน้าใน 7 สาขาพลังงานของอาเซียน ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำมันและ ก๊าซธรรมชาติ การจัดการถ่านหินและคาร์บอน ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน นโยบายและแผนพลังงาน และพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน และเครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงาน โดยที่ประเทศไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคในการดำเนินงานทางด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานซึ่งได้มี การพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และได้ทำหน้าที่เป็นประธานสาขาประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานซึ่งมี การดำเนินการสำคัญที่รายงานในปี 2567 คือการผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานของอาเซียน ได้ร้อยละ 24.5
.
นอกจากนี้ ไทยได้มีการหารือทวิภาคีกับ สปป.ลาว และมาเลเซีย ถึงแนวทางการกระชับความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และได้ร่วมแสดงความยินดีกับคณะผู้ประกอบการจากประเทศไทยที่เข้ารับรางวัล ASEAN Energy Awards ประจำปี 2567 ซึ่งในปีนี้ไทยเป็นผู้ได้รับรางวัลมากที่สุด ด้านการอนุรักษ์พลังงาน 9 รางวัล ด้านพลังงานหมุนเวียน 10 รางวัล และได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านการบริหารจัดการพลังงานอีก 5 รางวัลอีกด้วย