134 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2565 ที่ห้อง 302 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ได้เรียกประชุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในด้านการประมง โดยมี นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ผู้บริหารกรมฯ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประมงจังหวัดชลบุรี และจังหวัดสมุทรสาครร่วมประชุม
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้รับร้องเรียนจากเครือข่ายผู้ประกอบการประมงในพื้นที่ จ.ชลบุรี และสมุทรสาคร เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการถูกแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องเครื่องมือทำประมงอวนลากที่ถูกระบุว่ากระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ได้ปฏิบัติตามระเบียบและข้อตกลงของกรมประมง และที่ผ่านมาไม่เคยถูกจับกุม แต่ล่าสุดกลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายที่มีโทษค่าปรับสูง พร้อมขอให้แก้ปัญหาเรื่องมาตรา 57 แห่ง พ.ร.ก.การประมง เกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน และขนาดเล็ก ที่ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากชาวประมงจำนวนมากถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิด หลังจากมีสัตว์น้ำต้องห้ามติดอวนขึ้นมาแม้ไม่เจตนาก็ตาม
ทั้งนี้มีเครือข่ายผู้ประกอบการประมงได้เดินทางมาขอความเป็นธรรมเพื่อให้ตรวจสอบการดำเนินการของกรมประมง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย และการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขเรื่องความไม่ชัดเจนของของกฎหมายในมาตรา 57 ด้วย วันนี้ตนจึงได้เชิญอธิบดีกรมประมง และเจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ มาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่รับฟังรายละเอียดข้อชี้แจงทั้งจากอธิบดีกรมประมง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายโดยเฉพาะประเด็นของ มาตรา 57 ที่เนื้อหาและข้อความยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการระบุเรื่องเจตนาการกระทำ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการที่จะปกป้องรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเรื่องเจตนาการกระทำผิดไว้ ทำให้ผู้ที่ทำการประมงที่มีสัตว์น้ำขนาดเล็กติดอวนมาด้วยถูกตีความว่ากระทำผิดไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องหาแนวทางแก้ไขเรื่องเนื้อหาข้อความในข้อกฎหมายดังกล่าว ด้วยการตั้งคณะกรรมขึ้นมาดูแลโดยเร็ว นอกจากนั้น ก็มีปัญหาความเข้าใจระเบียบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอวนที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่จนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีชาวประมง ทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำผิด ซึ่งอธิบดีกรมประมงรับว่าจะรีบไปดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการตีความที่ไม่ถูกต้องชัดเจนเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะทำงาน เช่น อนุกรรมการต่างๆ ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและชาวประมงได้ ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้จะต้องไปดำเนินการทำความใจเรื่องอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหน่วยงาน และมีผลถึงความเดือดร้อนของประชาชนด้วย ทั้งนี้ตนได้ให้แนวทางกับอธิบดีกรมประมงไปดำเนินการแก้ไขแล้ว ซึ่งจะได้เชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้เพื่อมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง
“ เรื่องนี้ผมเห็นใจทั้งสองฝ่าย เพราะเจ้าหน้าที่เองก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่กฎหมายบางข้อที่ถูกเขียนขึ้นก็ยังไม่ชัดเจน กฎหมายบางอย่างถ้าใช้เกินความจำเป็นก็จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ขณะเดียวกันก็ยังมีความเข้าใจกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่บางคนจนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีที่ไม่ถูกต้อง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรถึงจะไปด้วยกันได้ เราก็ต้องส่งเสริมให้กิจการประมงเขาไปได้ ชาวประมงเองก็ต้องรู้ว่าไม่ไปทำลายสัตว์น้ำ ถึงจะทำมาหากินก็ต้องให้โอกาสปลาโตขึ้นมา ผมเชื่อว่าไม่มีใครต้องการทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายปัจจุบันโทษหนัก นอกจากพวกที่ตั้งใจเป็นโจรทำผิดกฎหมายอันนั้นก็ต้องเอาให้หนัก แต่คนที่เขาทำมาหากิน ผิดพลาดบ้าง เข้าใจผิดบ้าง หรือเจ้าหน้าที่เองเข้าใจหลักเกณฑ์ผิดบ้าง อันนี้ต้องหาทางทำความเข้าใจกัน” นายพีระพันธุ์ กล่าว