....................
สัมภาษณ์พิเศษ: พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน
.....................
ครบรอบการทำงาน 1 ปี ในฐานะเจ้ากระทรวงพลังงานของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ประชาชนได้รับการดูแลแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างไร? มิติใหม่ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยคืบหน้าไปมากน้อยแค่ไหน? กฎหมายกำกับดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรมจะได้ใช้เมื่อไหร่? ราคาน้ำมัน-ค่าไฟ จะลดลงได้อย่างไร? การทำงานในปีที่ 2 จะไปต่อแบบไหน? และมีอะไรใหม่ในการดูแลประชาชนด้านพลังงาน? ไปพบกับคำตอบในบทสัมภาษณ์พิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เจ้าของแนวคิด รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง เพื่อความมั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน ของระบบพลังงานไทย เพื่อคนไทยทุกคน
ลุยหาช่องทางแก้ปัญหาหมักหมม
“จากประสบการณ์ทํางานในราชการทางการเมือง ผมคิดว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผมทํางานได้เยอะและเร็วพอสมควร ฟังดูเหมือนนาน 12 เดือน 1 ปี แต่ในความเป็นจริง ช่วง 2-3 เดือนแรก ผมต้องศึกษาข้อมูล ศึกษาปัญหา แล้วก็ศึกษาวิธีการแก้ไข ปัญหาของกระทรวงพลังงานซึ่งรับผิดชอบทั้งเรื่องน้ำมัน เรื่องค่าไฟฟ้า เรื่องของราคาแก๊ส แล้วก็อีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนในเรื่องของพลังงาน มันเยอะมาก และเป็นปัญหาที่หมักหมมมา ไม่ใช่แค่ 5 ปี 10 ปี กระทรวงพลังงานปีนี้จะเริ่มปีที่ 22 แต่ปัญหาที่พูดมาทั้งหมด เกิดมาก่อนกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาน้ำมัน ไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี ผมเองใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนแรก ในการศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข ผมคิดว่าผมพอใจในการทํางานของผมเองที่ 2-3 เดือนแรกก็สามารถที่จะศึกษาทั้งหมดได้ครับ”
ออกประกาศให้ผู้ค้าแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
“หลังจากศึกษาก็หาวิธีแก้ไข โดยเฉพาะอันดับแรกเลยก็คือเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งประหลาดมากที่เราไม่เคยรู้ต้นทุน และก็ไม่เคยขอให้ผู้ค้าบอกต้นทุนได้ ผมก็ต้องใช้เวลาในการหาวิธีที่จะดําเนินการ เพราะทุกฝ่ายมาบอกกับผมหมดเลยว่าไม่มีอํานาจ การจะมีอํานาจก็ต้องแก้ไขกฎหมายนะครับ และนอกจากแก้ไขกฎหมายธรรมดา ยังต้องแก้ไขกฎหมายอีกหลายอย่างซึ่งจะใช้เวลา ผมก็ต้องกลับมาใช้กฎหมายที่เป็นกฎหมายปัจจุบันมาศึกษาช่องทาง ซึ่งผมทําเองทั้งหมด สุดท้ายก็เจอช่องทางตามกฎหมายปัจจุบัน ผมจึงหารือกับทางสํานักงานกฤษฎีกา ซึ่งก็เห็นตรงกัน เลยยกร่างเบื้องต้นขึ้นมา แล้วก็ให้คณะไปร่างต่ออีกทีนึง ก็ออกมาเป็นประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน จากนั้น ก็มาเจอกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า การจะประกาศได้ต้องผ่านกระบวนการ พูดง่าย ๆ ภาษาง่าย ๆ ประชาชนเข้าใจง่าย คือต้องประชาพิจารณ์อีก เพราะฉะนั้นก็ทําให้กระบวนการที่จะออกประกาศใช้เวลาอีก 3-4 เดือน สุดท้ายก็มีผลบังคับเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทําให้ผมรู้ต้นทุนราคาน้ำมัน และรู้ปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่อไป”
ร่างกฎหมายกำกับดูแลการขึ้นลงของราคาน้ำมัน สกัดผู้ค้าปรับราคาตามอำเภอใจ
“ต่อมา ผมก็คิดว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำมันของบ้านเรา ในเรื่องของการใช้ระบบที่เรียกว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มารักษาระดับหรือพยุงราคา ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะเป็นภาระของประเทศแล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตรงจุด ขณะเดียวกัน ผมก็พบว่าประเทศไทยไม่มีสํารองน้ำมันของประเทศ ที่ว่ามี ๆ กันวันนี้ ไม่ใช่สํารองน้ำมันของประเทศ แต่เป็นสํารองของผู้ประกอบการ และวัตถุประสงค์หลักก็คือ เป็นการสํารองด้านการค้า ขั้นต่ำของการสํารองเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยประเทศต้องอย่างน้อย 90 วันตามมาตรฐานสากล แต่ของเราไม่มี ที่มีอยู่ก็แค่ 20 วัน เพราะฉะนั้นเราก็ตกมาตรฐานสากล เป็นมาแบบนี้ 40-50 ปี ไม่เคยมีใครทํา ผมก็ต้องมานั่งคิดอีก แล้วก็มานั่งคิดว่า ตรงนี้จะแก้ปัญหาเรื่องกองทุนน้ำมันยังไง ก็ปรากฏว่ากองทุนน้ำมันไม่เคยมีกฎหมาย เพิ่งมีกันครั้งแรกเมื่อปี 2562 ซึ่งก็เป็นกฎหมายที่ไม่สมบูรณ์อีก ผมก็ต้องมานั่งคิดว่าจะวางระบบเรื่องสํารองน้ำมันประเทศยังไง แล้วก็มาเจอปัญหาเรื่องราคาน้ำมันขายปลีก ผมเองก่อนมาเป็นรัฐมนตรีก็สงสัยทําไมราคาน้ำมันมันขึ้นลงกันได้ง่ายเหลือเกิน วันนี้อ้างราคาตลาดโลกขึ้น แต่เวลาลงทําไมมันไม่ลงง่ายเหมือนตอนขึ้น ก็ปรากฏว่าไม่มีกฎหมายอีกครับ กลายเป็นว่าการขึ้นลงของราคาน้ำมัน ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจเหมือนผมในอดีต ก็หาว่าทําไมกระทรวงพลังงานปล่อย มันไม่ปล่อยได้ไงครับ มันไม่มีกฎหมายให้อํานาจทําอะไรเลย เพราะฉะนั้น ผมก็เลยเร่งทำกฎหมายในเรื่องนี้
“ที่ผมเคยบอกไว้ว่า ผมมีบันได 5 ขั้น ผมก็ไล่มาทีละขั้นนะครับ หลังจากเรื่องของต้นทุนราคาน้ำมันซึ่งเป็นบันไดขั้นที่ 2 ผมก็ต้องรีบมาแก้ปัญหาเรื่องการที่ผู้ประกอบการค้าน้ำมันสามารถทําอะไรก็ได้ตามอําเภอใจ ไม่มีกฎหมาย ผมก็มาแก้กฎหมายเพื่อกํากับดูแลการประกอบธุรกิจการค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นบันไดขั้นที่ 3 และตอนนี้ผมยกร่างกฎหมายนี้เสร็จแล้วครับ
“ผมขออนุญาตทําความเข้าใจนิดนะครับว่า การขออนุญาตค้าน้ำมันกับการกํากับดูแลนี่ไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้เรามีแต่กฎหมายที่มาขออนุญาตค้าน้ำมัน แต่เมื่อเราให้อนุญาตไปแล้ว ก็อิสระเลยครับ ในขณะที่ทางด้านไฟฟ้า มีคณะกรรมการ กกพ. หรือคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน เป็นผู้กํากับเรื่องของการประกอบกิจการ เรื่องของราคา เรื่องอื่น ๆ แต่น้ำมันไม่มี การกํากับดูแลสื่อก็ยังมี กสทช. แต่น้ำมันไม่มีครับ อันนี้เป็นเรื่องที่ประหลาด ปล่อยมาอย่างนี้ 40-50 ปี ผมคิดว่าอันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เกิดปัญหากับพี่น้องประชาชน ผมก็เลยยกร่างกฎหมายที่ว่า ซึ่งตอนนี้เสร็จแล้ว และจะประชุมคณะทํางานเพื่อจะตรวจร่างที่ผมร่างขึ้นมา กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายใหม่ในการกํากับดูแลไม่ให้การประกอบกิจการน้ำมันของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตค้าน้ำมันอยู่แล้ว สามารถทําอะไรได้เองตามอําเภอใจทั้งหมด แล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เราจะมีการกํากับดูแล แล้วก็จะวางระบบเรื่องกองทุนน้ำมันฯ ใหม่ ซึ่งระยะเวลาการทํากฎหมายนี้จนถึงวันนี้ ผมคิดว่าเร็วพอสมควรแล้วกับการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไปครับ”
จัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ พลิกภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันฯ ให้กลายเป็นทรัพย์สินของชาติ
“ผมกำลังทําเรื่องกฎหมายเรื่องสํารองน้ำมันของประเทศ ซึ่งผมจะเอาน้ำมันตัวนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันฯ เราจะมีน้ำมันมาดูแลน้ำมัน ผมจะเปลี่ยนกองทุนที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้เป็น Asset หรือทรัพย์สินของประเทศ ต่อไปกองทุนน้ำมันฯ ที่มีน้ำมันสํารองของประเทศ จะเป็นทรัพย์สินของประเทศไม่ใช่ภาระหนี้สินอีกต่อไป ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มต้นทําแล้วครับ”